100 เรื่องเมืองไทย เที่ยวเมืองไทย เที่ยว 77 จังหวัด แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย
ลำตัด วัฒนธรรมพื้นบ้านเล่าขานความเป็นไทย
เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เป็นการละเล่นที่นำบทร้อยกรองมาใส่จังหวะและทำนองเพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการขับร้อง เพลงพื้นบ้านเหล่านี้สืบทอดด้วยการจดจำ เนื้อร้องและทำนองนั้นๆไว้ ทางภาคกลางมีเพลงพื้นบ้านประมาณ 45 เพลง เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด เพลงทรงเครื่อง เพลงรำโทน เป็นต้น แต่เพลงพื้นบ้านที่เป็นที่รู้จักกันดีและสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องถึงหนึ่งร้อยกว่าก็คือ ลำตัด นั่นเอง
เดิม ลำตัด มีต้นตอมาจากมลายู ต่อมาก็ได้เปลี่ยนแปลเนื้อร้องเป็นภาษาไทยทั้งหมด ในระยะแรกเรียกว่า “ลิเกลำตัด” ภายหลังได้ทอนคำให้สั้นลงเพื่อความสะดวกในการเรียกว่า “ลำตัด” จนถึงในปัจจุบัน
คำว่า ลำตัด เป็นการตั้งชื่ออันชาญฉลาดของคนไทยสมัยก่อน เพราะ คำว่า “ลำ”หมายถึงเพลง และคำว่า “ตัด” หมายถึงการนำเพลงพื้นบ้านชนิดอื่นๆมาตัดมาต่อกันจนเป็นเพลง สำหรับนำมาแสดงลำตัด และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่า ทำไมลำตัดถึงได้สะท้อนวัฒนธรรมของไทยได้อย่างชัดเจน
สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดจากการดูลำตัดคือ คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ร่ำรวยทางภาษา สามารถนำคำต่างๆมาผูกเป็นกลอน และโยงเรื่องเข้าด้วยกัน จนสละสลวย จากนั้น จึงนำมาใส่ทำนองและจังหวะ การใช้ภาษาจะมีการเล่นคำ อาจเป็นการเล่นเสียงหรือความหมาย โดยใช้คำพ้องต่างๆไม่ว่าจะเป็นคำพ้องเสียง หรือ คำพ้องความหมาย(คำไวพจน์) เพื่อให้คำร้องมีความไพเราะ หลากหลาย และกินใจผู้ฟังมากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งสิ่งที่ผสมกลมกลืนกับลำตัดอย่างแยกไม่ออก คือการร่ำรวยอารมณ์ขันของคนไทย สังเกตได้ว่าจุดเด่นของลำตัดคือความ “ขำขัน” นั่นเอง สิ่งที่ผู้ชมคาดหวังจากลำตัดมากที่สุดคือ ความเฮฮาสนุกสนาน ซึ่งเกิดจากการปะทะฝีปาก ปะทะคารม ระหว่างผู้ร้องทั้งสองฝั่ง โดยใช้คำเผ็ดร้อน ยั่วแหย่กันไปมา หากเป็นการประชันลำตัดในสมัยก่อน จะเป็นการปะทะคารมกันอย่างจริงจัง อาจถึงขั้นมองหน้ากันไม่ติดทั้งสองฝ่ายเลยก็มี แต่ในปัจจุบันจะมีการเตรียมกันระหว่างผู้ประชัน ทำให้ผู้ชมได้รับอรรถรสและความสนุกสนานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากคณะลำตัดคณะไหนเล่นได้ไม่สนุกสนานครื้นเครง จะถือว่าคณะนั้นเป็นลำตัดที่ไม่ยังสมบูรณ์ และไม่สามารถดึงดูดผู้ชมได้
ลำตัดบอกเล่าเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวไทยอย่างแยบยล ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อาหารการกิน การเกี้ยวพาราสีระหว่างหญิงชาย ความเกี่ยวพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ เป็นต้น หากเราย้อนกลับไปดูเนื้อเพลงลำตัดยุคก่อนๆ จะพบว่าเนื้อร้องของลำตัดจะพันธ์ผูกกับวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยนั้นๆอย่างเหนียวแน่น โดยคำร้องจะกล่าวถึงชีวิตประจำวัน เช่น นิสัยส่วนตัว รูปร่างหน้าตา ความหลัง อาจจะมีเรื่องทะเล้นทะลึ่งมาปะปนบ้างให้พอสนุกสนาน
ถึงแม้ว่า ลำตัดจะสืบทอดวัฒนธรรมมาเป็นเวลายาวนาน แต่การสืบทอดนั้นเป็นั้นเป็นเพียงการฝึกร้องปากต่อปากไม่ได้มีการบันทึกอย่างชัดเจน ทำให้การร้องลำตัดเริ่มเลือนหาย ประกอบกับการเติบโตของเพลงสากล ทำให้ลำตัดเสื่อมความนิยมลงอย่างน่าใจหาย จนทำให้เด็กรุ่นใหม่บางกลุ่มอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพลงพื้นบ้านแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกันตรงไหน และเพลงพื้นบ้านนั้นมีความสำคัญอย่างไรมีความสำคัญอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ แม่ประยูร ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ผู้เป็นบรมครูด้านเพลงพื้นบ้านโดยเฉพาะลำตัด ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการเผยแพร่เพลงพื้นบ้าน เช่นการบันทึกแผ่นเสียง การบันทึกเทปการแสดง การบันทึกเสียงลงในเทป เป็นต้น ซึ่งการเผยแพร่เพลงพื้นบ้านในลักษณะนี้ทำให้เพลงพื้นบ้านโดยเฉพาะลำตัดเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ ลำตัดของแม่ประยูร ยังได้รับความนิยมมากจนได้รับเชิญไปขึ้นคอนเสิร์ตของนักร้องยอดนิยมตลอดกาล อย่าง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ถึงสองครั้งในปีพ.ศ.2530 และปีพ.ศ. 2534 ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า แม่ประยูรทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักเพลงพื้นบ้าน การละเล่นแบบไทยๆเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เพลงลำตัดที่บันทึกไว้มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพลงรำตัดยุคเก่าๆบางเพลงก็เริ่มสูญหาย ครูเพลง พ่อเพลง แม่เพลง บางท่านก็ถูกลืมเลือนคงเหลือไว้เพียงชื่อ หากไม่รู้ว่าท่านแต่งเพลงอะไร มีความสามารถด้านใด เนื่องจากการจัดระบบข้อมูลต่างๆทางด้านเพลงพื้นบ้านยังไม่สมบูรณ์ และนี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เพลงพื้นบ้าน ไม่แพร่หลายในปัจจุบัน
อาจเป็นเพราะอิทธิพลของโลกตะวันตกที่กำลังเติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้วัยรุ่นส่วนใหญ่หันไปฟังเพลงเหล่านี้ ด้วยคิดว่าดี ว่าโก้ ว่าเก๋ แต่ลืมหันมามองว่าจริงๆแล้วเราก็มีของดีอยู่ไม่ใช่น้อย ความจริงแล้วการซึมซับวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องผิด ออกจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ ที่เราสามารถยอกรับความเปลี่ยนแปลง ก้าวทันโลก แต่สิ่งที่ไม่ควรก็คือการลืมสิ่งที่เป็นรากฐานของชีวิต นั่นก็คือ วัฒนธรรมอันเก่าแก่พวกนี้นี่เอง
ในตอนนี้ สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การรณรงค์ที่ใช้แต่การพูดให้ทำ แต่ควรจะลงมือกระทำเลยต่างหาก โดยการที่ค่อยๆนำวัฒนธรรมเหล่านี้หล่อหลอมเข้ามาในชีวิตอีกครั้ง เพื่อให้เด็กยุคใหม่ได้ซึมซับวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลานาน เพราะการซึมซับจะต้องใช้เวลา แต่วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด นอกจากการปลูกฝังแลล้วยังต้องมีการจดบันทึกโดยละเอียด
การจดบันทึกนี้จะทำให้เราสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ของลำตัดได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ภาษา เพราะในแต่ละยุคแต่ละสมัยย่อมมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันออกไป ด้านสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแต่ละสมัย เพราะแต่สิปปียี่สิบปีความเป็นอยู่ยังเปลี่ยนแปลงไปมากนัก และถ้าเวลาต่างกันเป็นร้อยปีก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง
ความสำคัญของลำตัดและเพลงพื้นบ้านอื่นๆ นอกจากจะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินกับผู้ฟังแล้ว ยังให้แนวคิดมากมายหลากหลายเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทย และเป็นเอกลักษณ์ที่ควรซึมซับ รักษาไว้เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป อย่าปล่อยให้สิ่งดีๆเหล่านี้เลือนหายไปกับกาลเวลา